ภาพจาก http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=36&chap=1&page=chap1.htm
2. มิห์รอบ
มิห์รอบ เป็นองค์ประกอบที่ใช้ระบุทิศทางกิบละห์ อาจมีลักษณะเป็นซุ้มโค้งเว้าเข้าไปในผนัง หรือเป็นเพียงผนังต่างระนาบที่ประดับด้วยลวดลายเพื่อให้เป็นที่สังเกต แต่มักจะไม่ประดับมากจนรบกวนสมาธิของผู้ละหมาด และมักไม่มีช่องเปิดเนื่องจากทำให้ผู้ละหมาดเสียสมาธิจากการเห็นกิจกรรมภายนอก
3. มิมบัร
มิมบัร เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับให้อิหม่ามหรือคอเต็บ (ผู้แสดงธรรม) ขึ้นกล่าวคุตบะห์ (แสดงธรรม) แจ้งข่าว หรือปราศรัยในโอกาสที่มีการละหมาดร่วมกันในวันศุกร์ มิมบัร เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงรูปแบบความสัมพันธ์ทางจิตใจระหว่างมุสลิมและผู้นำ โดยทั่วไปมิมบัรมักจะวางทางด้านขวาของมิห์รอบ เมื่อเสร็จจากการกล่าวคุตบะฮ์แล้ว อิหม่ามหรือคอเต็บจะลงมาละหมาดร่วมกับทุกคนในระดับที่เท่าเทียมกัน
4. ลานอเนกประสงค์ หรือโถงอเนกประสงค์
ลานอเนกประสงค์ หรือโถงอเนกประสงค์ ทำหน้าที่รองรับคนเข้าออกจากโถงละหมาดทั้งในวันปกติและวันสำคัญซึ่งมีคนมากเป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังใช้จัดกิจกรรมทางสังคมที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาอีกด้วย
5. ที่อาบน้ำละหมาด
ข้อบัญญัติของศาสนาอิสลามกำหนดให้มีการอาบน้ำละหมาดก่อนการละหมาดซึ่งเป็นการทำความสะอาดส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น มือ ใบหน้า แขน เท้า เป็นต้น โดยอาจทำมาจากสถานที่อื่นแล้วเดินทางมามัสยิดหรือจะมาทำที่มัสยิดก็ได้สถานที่อาบน้ำละหมาดมักอยู่ในพื้นที่อเนกประสงค์ ผู้ที่อาบน้ำละหมาดแล้วจะเดินผ่านเขตมัสยิดที่สะอาดเข้าสู่โถงละหมาดได้โดยตรงโดยไม่ต้องสวมรองเท้า พื้นที่ส่วนนี้มักจะเตรียมไว้อาบน้ำละหมาดได้หลายคนพร้อมกัน โดยอาจเป็นน้ำพุ บ่อน้ำหรือก๊อกน้ำ บางแห่งประดับประดาอย่างสวยงาม
6. หออะซาน
หออะซาน เป็นสถานที่สำหรับให้ผู้ประกาศเวลาละหมาดหรือที่เรียกว่ามุอัซซินขึ้นไปอะซานให้ได้ยินไปไกลที่สุด การอะซานเป็นการเรียกให้มาละหมาดเมื่อถึงเวลาละหมาดประจำวันวันละ 5 เวลา
ท่านศาสดาได้กำหนดให้ผู้ที่ได้ยินเสียงอะซานมาละหมาดร่วมกันที่มัสยิด พื้นที่ที่อยู่ในรัศมีเสียงอะซานจึงมักเป็นตัวกำหนดขอบเขตพื้นที่ของชุมชน หออะซานมักเป็นหอสูงที่มีรูปทรงที่โดดเด่นและเป็นสัญลักษณ์ของมัสยิดที่มองเห็นได้ในระยะไกล ในปัจจุบัน แม้หออะซานจะลดความสำคัญลงเนื่องจากมีเครื่องกระจายเสียงที่ทำให้ได้ยินไปไกล แต่หออะซานยังคงเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญที่ทำให้มองเห็นตำแหน่งของมัสยิดและชุมชนมุสลิมได้จากระยะไกล
7. ซุ้มประตู
มัสยิดโดยทั่วไปมักมีการกำหนดขอบเขตเพื่อแยกพื้นที่ภายในที่สงบออกจากสิ่งรบกวนภายนอก โดยอาจเป็นกำแพงหรือคูน้ำล้อมรอบเพื่อแยกเป็นสัดส่วนและมีซุ้มประตูเป็นตัวเชื่อมต่อที่บ่งบอกถึงการเข้าถึงมัสยิด และเป็นตัวเน้นมุมมองให้สัมพันธ์กับแกนของมัสยิด ซุ้มประตูมักเป็นส่วนที่มีการประดับประดาอย่างสวยงามเช่นเดียวกับโดมและหออะซาน
8. แท่นสำหรับผู้ขานสัญญาณ (Dikka)
เป็นสถานที่สำหรับให้มุบัลลิก (ผู้ขานสัญญาณ) ส่งเสียงให้สัญญาณต่อจากอิหม่ามเพื่อให้คนที่อยู่ไกลสามารถได้ยินสัญญาณและละหมาดพร้อมกันได้ในกรณีที่มีคนมาละหมาดเป็นจำนวนมาก แท่นนี้มักเป็นพื้นที่เล็กๆ สูงประมาณ 1 ชั้น อาจอยู่บริเวณหน้าแท่นมิมบัรหรือกลางโถงละหมาดหรือกลางลานโล่งภายนอก ปัจจุบัน แท่นนี้ลดความสำคัญลงเมื่อมีเครื่องขยายเสียงที่ทำให้ได้ยินเสียงอิหม่ามทั่วทั้งมัสยิด
9. มักซูเราะห์ (Maqsurah)
เป็นที่ที่กั้นไว้สำหรับผู้ปกครองหรือคอลีฟะห์ยืนละหมาด จึงมักมีทางเชื่อมพิเศษให้ผู้ปกครองสามารถเข้าสู่มัสยิดได้เป็นการส่วนตัว ต่อมาในสมัยหลังพื้นที่เช่นนี้ไม่มีแล้ว
การใช้งานในพื้นที่มัสยิด
มัสยิด ถูกแบ่งพื้นที่การใช้งานในด้านต่างๆ ดังนี้ [3]
1. พื้นที่สำหรับทำพิธี
ในระยะแรก พื้นที่ส่วนนี้ใช้ร่วมกับส่วนอื่น แต่เมื่อสถาปัตยกรรมมัสยิดพัฒนารูปแบบจนเกิดการสร้างพื้นที่ใช้สอยที่ซับซ้อนขึ้นพื้นที่ส่วนนี้จึงมักจะแยกเป็นสัดส่วนแยกจากส่วนอื่น โดยมีองค์ประกอบต่างๆ เช่น มิห์รอบ และมิมบัร ซึ่งมีที่มาจากการใช้งานแต่ถูกนำไปตีความเพื่อใช้ในเชิงสัญลักษณ์ในภายหลัง เช่น มิมบัร เป็นสิ่งที่เตือนให้รำลึกถึงท่านศาสดา และมิห์รอบ เปรียบเสมือนประตูสวรรค์ เป็นต้น ซึ่งในบทบัญญัติของศาสดาในคัมภีร์อัลกุรอานและบันทึกอัลฮะดีษไม่มีการตีความนี้ แต่จะให้ความสำคัญกับการใช้งานในรูปแบบต่างๆการออกแบบพื้นที่ส่วนนี้ นอกจากจะคำนึงถึงความสวยงามแล้ว สิ่งสำคัญคือเรื่องของความสะอาด สงบ ความมีเอกภาพและความเท่าเทียมกันของผู้ที่มาประกอบศาสนกิจในมัสยิด ตลอดจนการคำนึงถึงการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยเฉพาะการได้ยินและการมองเห็นผู้นำในการละหมาดและการกล่าวคุตบะฮ์
2. พื้นที่อเนกประสงค์
พื้นที่สำหรับรองรับกิจกรรมอเนกประสงค์ ในกรณีที่มัสยิดมีการใช้งานที่หลากหลาย พื้นที่นี้มีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นศูนย์กลางกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่เป็นทางการรองรับการขยายตัวของศาสนพิธีซึ่งเกิดขึ้นภายในพื้นที่สำหรับทำพิธี พื้นที่นี้มักต่อเนื่องกับพื้นที่สำหรับทำพิธี และมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน บางโอกาสอาจปรับใช้เป็นพื้นที่โล่งเพื่อใช้สำหรับละหมาดก็ได้ บางแห่งมีพื้นที่สำหรับใช้เก็บข้าวของเครื่องใช้สำหรับใช้ในงานของมัสยิดอีกด้วย
3. พื้นที่กิจกรรมเฉพาะ
พื้นที่นี้มักมีลักษณะการใช้งานที่แน่นอน เช่น ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องประชุม ที่อาบน้ำละหมาด ร้านค้า รวมถึงส่วนบริการ เช่น ห้องครัว ห้องเก็บของ สำนักงาน ห้องน้ำ
4. พื้นที่ภายนอก
พื้นที่ภายนอกอาคารมักรวมถึงงานภูมิทัศน์ต่างๆ ได้แก่ ลาน ที่จอดรถ สนาม สวน และทางสัญจรลักษณะต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เชื่อมโยงกิจกรรมในมัสยิดเข้ากับชุมชน
ลักษณะอาคารมัสยิดจักรพงษ์
มัสยิดจักรพงษ์ มีลักษณะเป็นอาคารปูน 2 ชั้น ยอดโดมเป็นหออะซาน มีการประดับช่องหน้าต่างด้วยกระจกสี บริเวณชั้น 1 ภายในประกอบด้วย พื้นที่ละหมาด ซึ่งมีการจัดแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับให้สตรีทำละหมาด พื้นที่สำหรับอาบน้ำละหมาด ภายนอกเป็นลานอเนกประสงค์สำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ล้อมรอบด้วยรั้ว บริเวณชั้น 2 เป็นโถงละหมาด มิห์รอบ มิมบัรซึ่งทำจากไม้สักแกะสลักเป็นอายะห์ มีลักษณะเป็นเสาสี่เสาและมีบันไดให้คอเต็บขึ้นบรรยายธรรม [4] บริเวณผนังมีการประดับป้ายพระนามพระอัลลอฮ์ ศาสนทูต และถ้อยคำในคัมภีร์อัลกุรอาน [5] มีการสร้างชั้นลอยเพิ่มเติม ซึ่งสามารถได้ขึ้นไปยังหออะซานได้
หออะซานมัสยิดจักรพงษ์
โถงละหมาดบริเวณชั้น 2 ของมัสยิดจักรพงษ์
บริเวณชั้นลอยของมัสยิดจักรพงษ์ที่สร้างต่อเติม
กรอบประตูทางเข้ามัสยิดจักรพงษ์
มิห์รอบและมิมบัรของมัสยิดจักรพงษ์
การประดับป้ายพระนามพระอัลลอฮ์ ศาสนทูต และถ้อยคำในคัมภีร์อัลกุรอานภายในอาคารมัสยิดจักรพงษ์
ที่อาบน้ำละหมาดบริเวณหน้าทางเข้ามัสยิดจักรพงษ์
บริเวณการทำละหมาดของสตรีในมัสยิดจักรพงษ์
ประวัติการสร้างมัสยิดจักรพงษ์
มัสยิดจักรพงษ์ ถือเป็นมัสยิดที่สำคัญของชุมชนชาวมุสลิมย่านตรอกสุเหร่าที่บางลำพู โดยชาวมุสลิมในย่านนี้ถือเป็นชุมชนมุสลิมที่ความเก่าแก่ชุมชนหนึ่งในเกาะรัตนโกสินทร์ สันนิษฐานว่า เป็นชาวมุสลิมที่อพยพมาจากเมืองปัตตานี เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลไปทำศึกที่ปาตานี (เมืองปัตตานีในปัจจุบัน) เพื่อจัดการเมืองปาตานีให้เข้าสู่อำนาจของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในปัจจุบันยังมีร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ที่แสดงให้เห็นว่า คนในชุมชนย่านนี้เป็นชาวปาตานี คือชื่อของถนนที่อยู่ด้านหน้ามัสยิดจักรพงษ์ ระหว่างถนนจักรพงษ์และถนนบวรนิเวศ ที่มีชื่อว่า ถนนตานี [6]
ในช่วงแรกยังไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างมัสยิดในชุมชนตรอกสุเหร่า จนกระทั่งในราวปี พ.ศ. 2380 – 2390 ในสมัยอิหม่ามฮัจยีอุมัร อุมารี ได้มอบที่ดินสำหรับสร้างบาแล มีลักษณะเป็นเรือนไม้ชั้นเดียว ใช้ในการประกอบศาสนกิจ [7]
ต่อมาในวันที่ 1 มิถุนายน 2465 อิหม่ามฮัจยีอาลี อุมารี บุตรของฮัจยีอุมัร อุมารี ได้บริจาคที่ดิน เนื้อที่ 1 งาน 14 ตารางวา เพื่อสร้างเป็นมัสยิด มีลักษณะเป็นอาคารไม้ พื้นทำด้วยไม้สักทอง ฝาทำด้วยไม้ธรรมดา หลังคาปูด้วยกระเบื้องดินเผาลักษณะยาวเรียวปลายแหลม ด้านนอกมีชานขนาดใหญ่ ด้านซ้ายและขวามีศาลา หออะซานตั้งอยู่ด้านนอกมัสยิด มีลักษณะเป็นเสากระไดสูง มีกลอง 1 ใบ สำหรับใช้ตีเพื่อบอกเวลาละหมาด นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ ในการสอนภาษาอาหรับ คัมภีร์อัลกุรอานและภาษาไทย สำหรับคนในชุมชนด้วย [8]